Powered By Blogger

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2551

เรื่อง การปลูกผักปลอดสารพิษ

สวัสดีค่ะคุณผู้ฟังที่รักทุกท่านค่ะ พบกับรายการสาระความรู้ทางการเกษตร จากคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กันอีกครั้งนะคะ สำหรับวันนี้ดิฉัน ดวงจันทร์เกรียงสุวรรณ ขอเสนอเรื่อง การปลูกผักปลอดสารพิษ ที่เพชรบุรี

นับเป็นความพยายามในการดำเนินการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการใช้หลักการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง โดยใช้ที่ดินว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ ทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้จัดทำ "โครงการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ" ขึ้น โดยจัดให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ค่ะ

การจัดตั้งกลุ่มเริ่มแรกมีสมาชิกให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวน 10 ราย เพื่อต้องการหารายได้เสริมในการเลี้ยงตนเองได้โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า "กลุ่มเกษตรรวมตัวสามัคคีห้วยทราย"ในการปลูกผักกางมุ้งค่ะ

นายสมภพ จิตต์ปลื้ม ประธานกลุ่มเกษตรรวมตัวสามัคคีห้วยทราย ให้ข้อมูลว่า สวนผักกางมุ้งที่กลุ่มเกษตรกรในโครงการปลูกกันนั้น จะมีการจัดสรรเป็นแปลง โดยมีขนาดของแปลงปลูกดังนี้คือ ขนาดความยาวของแปลง 24 เมตร ขนาดความกว้างของแปลง 19 เมตร รวมเนื้อที่ปลูกทั้งสิ้นจำนวน 12 แปลง ซึ่งเป็นของกลุ่มเกษตรกรสมาชิกที่มีอยู่ในปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 12 ราย ค่ะ

สำหรับผักที่นำมาปลูกส่วนใหญ่จะเป็นผักกวางตุ้ง และ ผักคะน้า เนื่องจากเป็นผักที่ใช้เวลาในการปลูกสั้น คือ ใช้เวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 40-45 วันเท่านั้น ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายได้แล้วโดยผลผลิตรุ่นแรกเริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่วันที่ 12-30 ส.ค. 41 เป็นต้นมา ทุกวันนี้เกษตรกรมีรายได้จากากรขายผลผลิตในราคาขายส่งเท่าที่ตลาดกำหนดให้ ตัวอย่างเช่น ผักกวางตุ้งขายได้ กก. ละ 70 บาท ผักคะน้าขายได้ กก.ละ 10-12 บาท ค่ะ

นอกจากผักกวางตุ้งและผักคะน้าแล้ว กลุ่มเกษตรรวมตัวสามัคคีห้วยทรายยังได้ทำการปลูกผักสวนครัวอื่นๆ ร่วมด้วย แต่ยังทำการเก็บเกี่ยวได้ไม่เต็มที่ สำหรับด้านการตลาดก็จะมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์ศึกษากาพัฒนาห้วยทราย ให้คำแนะนำและติดต่อให้ แต่ตลาดส่วนใหญ่จะเน้นตลาดท้องถิ่นและตลาดกาลางเป็นหลัก ค่ะ

ประธานกลุ่มฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงเริ่มต้นก่อนการปลูกผักต้องมีการพัฒนาที่ดินเป็นอันดับแรก เนื่องจากที่ดินเดิมเป็นดินปนทราย มีชั้นดินดานไม่ระบายน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ดินแห้งแข็งจึงจำเป็นต้องปรับปรุงบำรุงดินให้มีคุณภาพเหมาะสมกับการเพาะปลูกทุกครั้ง ซึ่งทางกลุ่มจะได้รับคำแนะนำจากหมอดินสถาบันพัฒนาที่ดินเพชรบุรี ให้ทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง นอกจากจะใช้เพื่อหรับปรุงบำรุงดินให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการปลูกหญ้าแฝกไว้ตามคันท้องร่องเพื่อป้องกันดินพังทลายนั้น ก็ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำขังแฉะในแปลงปลูกได้อีกด้วย เนื่องจากรากของหญ้าแฝกจะช่วยดูดซับน้ำไม่ให้แฉะมากเกินไป ค่ะ

การผลิตผักให้ปลอดภัยจากสารพิษ สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การปลูกผักกางมุ้ง การใช้วิธีชีวภาพ เช่น การนำสาระสะเดา ข่า และน้ำผสมจุลินทรีย์มาเป็นใช้ยาป้องกันและกำจัดแมลง หรืออาจใช้วิธีการให้น้ำหยดและการให้น้ำแบบฝอยจากสปริงเกิลที่หมุนได้รอบตัว 360 องศา เพื่อไล่แมลงที่จะมาวางไข่ตามใบของผักซึ่งนอกจากจะใช้ป้องกันแมลงมาวางไข่แล้วยังช่วยชะล้างผักให้สะอาดอีกด้วย ดังนั้นการปลูกผักในพื้นที่เกษตรกรดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการปลูกผักปลอดสารพิษโดยใช้วิธีการอิงธรรมชาติ ไม่มีการใช้สารเคมี ค่ะ

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวกำลังจะขยายออกไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจแบบพอเพียงที่จะเอื้อให้เกิดการแบ่งปันผลผลิตที่เพียงพอ และเป็นการเน้นให้เกษตรมีโอกาสผลิตวัตถุดิบและขายได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงให้คนในท้องถิ่นได้มีงานทำเพื่อเป็นการเสริมรายได้ และใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย ค่ะ

คุณผู้ฟังที่รักค่ะ การที่ดิฉันนำเสนอเรื่องราวของการปลูกผักปลอดสารพิษ ที่เพชรบุรีนี้ ก็เพื่อต้องการให้พ่อแม่พี่น้องเกษตรกรชาวใต้ของเราได้ทราบเพื่อเป็นตัวอย่างในการนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมได้ และเพื่อสนองตอบต่อแนวพระราชดำริเศรษฐกิจแบบพอเพียง เพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสผลิตวัตถุดิบและขายได้ด้วยตนเองและยังเป็นการสร้างฐานให้คนในท้องถิ่นได้มีงานทำ อันเป็นการเสริมรายได้เพื่อต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำถดถอยต่อไป ค่ะ

คุณผู้ฟังที่รักค่ะ หากคุณผู้ฟังต้องการรายละเอียดเกี่ยวกับรายการสาระความรู้ทางการเกษตรเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ๆ หรือต้องการให้คำแนะนำ ติชมกับทางรายการสาระความรู้ทางการเกษตรนะคะก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ค่ะ อาจจะเป็นทางจดหมายหรืออาจจะเป็นโทรศัพท์เข้ามาก็ยินดีนะคะ โดยให้ติดต่อมาที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ หมายเลขโทรศัพท์ (074)-211030-49 ต่อ 2370 หรือที่สถานีวิทยุมอ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หมายเลขโทรศัพท์ (074)-211030-49 ต่อ 2999 ในวันและเวลาราชการค่ะ

สำหรับวันนี้เวลาของรายการสาระความรู้ทางการเกษตรได้หมดลงอีกแล้วนะคะ คุณผู้ฟังจะติดตามรับฟังรายการสาระความรู้ทางการเกษตรได้ใหม่ ณ สถานีวิทยุมอ. FM 88 MHz ทุกวันจันทร์เวลาประมาณสิบห้านาฬิกาสี่สิบห้านาที สำหรับวันนี้ดิฉันขอลาคุณผู้ฟังไปก่อนค่ะ สวัสดีค่ะ